Friday, November 23, 2007

ตัวอย่างโครงการพระราชดำริ

เกษตรที่สูง


โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในการป้องกันและแก้ไขการบุกรุกทำลายป่าของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกินและราษฎรในพื้นที่ขาดความรู้ทางการเกษตร ให้เป็นแหล่งที่ราษฎรได้ศึกษาหาความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่อาศัยเลี้ยงชีพจนสามารถพึ่งตนเองได้ ลักษณะของการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ที่ถูกต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ดิน และระบบนิเวศน์ป่าไม้บนพื้นที่สูง พืชผัก ไม้ดอก และผลไม้เมืองหนาว เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นำไปพัฒนาเป็นอาชีพของตนเอง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในท้องถิ่น เช่น อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ต่างๆ เป็นต้น ราษฎรสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการเข้าไปเป็นแรงงานในการ ดำเนินการของโครงการฯ ทำให้เป็นแหล่งจ้างงานให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นควบคู่กับการได้เพิ่มพูนความรู้


แก้มลิง



เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “แก้มลิง” โดยทรงพระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า
“...ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง...”

เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วม ก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างโครงการตามพระราชดำริ มาดังนี้

โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ (แก้มลิงธรรมชาติ) ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สืบเนื่องจากในระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 1 กันยายน 2540 จังหวัดชุมพรประสบอุทกภัย อันเนื่องมาจากพายุโซนร้อน “ซีต้า” ส่งผลให้ราษฏรได้รับความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพรมาโดยตลอด จวบจนกระทั่งเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อ คือ

1.ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลอง และปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎร ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง

2.ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติม พร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ ลงคลองหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลล่วงหน้า ทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลลงมาใหม่ได้อีกจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่ แล้วทยอยระบายทิ้งลงทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้ม แล้วจึงค่อยๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร

3.ควรพิจารณาขุดคลอง หรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะ กับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะ ลงหนองใหญ่ ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค–บริโภค และฤดูน้ำหลาก สามารถผันน้ำจากคลองท่าแซะ ลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายน้ำทิ้งทะเลผ่านคลองหัววัง-พนังตัก ได้อีกด้วย

4.ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 , 2 , 3 เพื่อช่วยระบายน้ำจากหนองใหญ่ลงสู่คลองหัววัง-พนักตัก ลงทิ้งทะเลในฤดูน้ำหลาก ทำให้ลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภา ที่จะไหลผ่านเมืองชุมพรได้ในระดับหนึ่ง

5.ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะ และ คลองรับร่อ บรรจบกัน) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับจังหวัดชุมพร

และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา แก่คณะบุคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เกี่ยวกับโครงการแก้มลิง เพิ่มเติมว่า

"...ลิงนี้เวลาให้กล้วยให้เงาะกิน มันใส่ปากแล้วเก็บไว้ในแก้ม ในแก้มลิง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กลืน น้ำที่อยู่ในแก้มลิงหนองใหญ่ที่ชุมพร ก็เป็นอย่างนั้น น้ำเข้ามาๆ แล้วจึงค่อยๆ ปล่อยออกไป เป็นอันว่า เมื่อเข้ามาเก็บไว้ น้ำนั้นก็ไม่มาท่วมเมืองชุมพร เมื่อน้ำที่ลงมาลดลงก็ปล่อยออก ลิงนี้ก็เหมือนกัน...”



ธรรมชาติแก้ด้วยธรรมชาติ

แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ เช่น

- การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวาซึ่งมีตามธรรมชาติ ให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม” อันมีความหมายว่า ทั้งน้ำเน่าเสียและผักตบชวาล้วนแต่เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาและต้องกำจัดไป แต่ก็สามารถนำมาหักล้างกันให้มีผลออกมาเป็น “ธรรม”ได้ นั่นก็คือ น้ำดีที่พึงปรารถนานั่นเอง

- การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากหญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว และมีระบบรากที่แผ่กระจายลงในดินได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับการประสานกันเป็นร่างแห ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่นำมาใช้เป็นพืชในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากรากสามารถจะยึดและหยั่งลึกลงในดิน เมื่อมีการปลูกในระบบที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ดิน ก็จะทำให้หญ้าแฝกสามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ลดการสูญเสียหน้าดินได้อย่างดี

No comments: