Friday, November 23, 2007

บทเพลงพระราชนิพนธ์


สายฝนSAI FON

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม

พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคามชุ่มธารา

สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง
แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพลายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล

พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนพลั่งลงมาจากฟ้าแดน
ไกลพืชพรรณไม้ชื่นยืนยง


เกร็ดน่ารู้เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน: Falling Rain เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้ มีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน บรรเลงครั้งแรกในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยอีกเพลงหนึ่ง จนถึงปัจจุบัน



ชะตาชีวิตCHATA CHEEWIT


ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร


นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย
คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง
ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง
หลงใหลหมายปองคนปรานี
ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน
ขาดญาติบิดรและน้องพี่
บาปกรรมคงมีจำทนระทม

ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน
แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม
หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งตรอมตรม
ชีวิตระทมเพราะรอมา
จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง
เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์
สักวันบุญมา
ชะตาคงดี

เกร็ดน่ารู้เพลงพระราชนิพนธ์ H.M. Blues: ชะตาชีวิต เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไป ทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรษา ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียนและคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการขายลอตเตอรี่ สำหรับช่วยคนจน นอกจากการออกลอตเตอรี่แล้ว มีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ วงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า "คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว" ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว
สำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคน

ตัวอย่างโครงการพระราชดำริ

เกษตรที่สูง


โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในการป้องกันและแก้ไขการบุกรุกทำลายป่าของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกินและราษฎรในพื้นที่ขาดความรู้ทางการเกษตร ให้เป็นแหล่งที่ราษฎรได้ศึกษาหาความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่อาศัยเลี้ยงชีพจนสามารถพึ่งตนเองได้ ลักษณะของการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการใช้พื้นที่ให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ที่ถูกต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ดิน และระบบนิเวศน์ป่าไม้บนพื้นที่สูง พืชผัก ไม้ดอก และผลไม้เมืองหนาว เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นำไปพัฒนาเป็นอาชีพของตนเอง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในท้องถิ่น เช่น อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ต่างๆ เป็นต้น ราษฎรสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการเข้าไปเป็นแรงงานในการ ดำเนินการของโครงการฯ ทำให้เป็นแหล่งจ้างงานให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นควบคู่กับการได้เพิ่มพูนความรู้


แก้มลิง



เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “แก้มลิง” โดยทรงพระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า
“...ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง...”

เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วม ก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างโครงการตามพระราชดำริ มาดังนี้

โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ (แก้มลิงธรรมชาติ) ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สืบเนื่องจากในระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 1 กันยายน 2540 จังหวัดชุมพรประสบอุทกภัย อันเนื่องมาจากพายุโซนร้อน “ซีต้า” ส่งผลให้ราษฏรได้รับความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพรมาโดยตลอด จวบจนกระทั่งเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อ คือ

1.ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลอง และปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎร ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง

2.ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติม พร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ ลงคลองหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลล่วงหน้า ทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลลงมาใหม่ได้อีกจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่ แล้วทยอยระบายทิ้งลงทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้ม แล้วจึงค่อยๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร

3.ควรพิจารณาขุดคลอง หรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะ กับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะ ลงหนองใหญ่ ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค–บริโภค และฤดูน้ำหลาก สามารถผันน้ำจากคลองท่าแซะ ลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายน้ำทิ้งทะเลผ่านคลองหัววัง-พนังตัก ได้อีกด้วย

4.ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 , 2 , 3 เพื่อช่วยระบายน้ำจากหนองใหญ่ลงสู่คลองหัววัง-พนักตัก ลงทิ้งทะเลในฤดูน้ำหลาก ทำให้ลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภา ที่จะไหลผ่านเมืองชุมพรได้ในระดับหนึ่ง

5.ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะ และ คลองรับร่อ บรรจบกัน) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับจังหวัดชุมพร

และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา แก่คณะบุคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เกี่ยวกับโครงการแก้มลิง เพิ่มเติมว่า

"...ลิงนี้เวลาให้กล้วยให้เงาะกิน มันใส่ปากแล้วเก็บไว้ในแก้ม ในแก้มลิง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กลืน น้ำที่อยู่ในแก้มลิงหนองใหญ่ที่ชุมพร ก็เป็นอย่างนั้น น้ำเข้ามาๆ แล้วจึงค่อยๆ ปล่อยออกไป เป็นอันว่า เมื่อเข้ามาเก็บไว้ น้ำนั้นก็ไม่มาท่วมเมืองชุมพร เมื่อน้ำที่ลงมาลดลงก็ปล่อยออก ลิงนี้ก็เหมือนกัน...”



ธรรมชาติแก้ด้วยธรรมชาติ

แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ เช่น

- การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวาซึ่งมีตามธรรมชาติ ให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม” อันมีความหมายว่า ทั้งน้ำเน่าเสียและผักตบชวาล้วนแต่เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาและต้องกำจัดไป แต่ก็สามารถนำมาหักล้างกันให้มีผลออกมาเป็น “ธรรม”ได้ นั่นก็คือ น้ำดีที่พึงปรารถนานั่นเอง

- การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากหญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว และมีระบบรากที่แผ่กระจายลงในดินได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับการประสานกันเป็นร่างแห ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่นำมาใช้เป็นพืชในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากรากสามารถจะยึดและหยั่งลึกลงในดิน เมื่อมีการปลูกในระบบที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ดิน ก็จะทำให้หญ้าแฝกสามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ลดการสูญเสียหน้าดินได้อย่างดี

พระราชกรณียกิจ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต

โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา




โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทย กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่างๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนั้น มีดังนี้

-เวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก ในรัชกาลปัจจุบัน
-สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓
-สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓
-สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓
-อังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓
-สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๐๓
-สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๓
-สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒ช-๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๓
-เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖-๙ กันยายน ๒๕๐๓
-นอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ กันยายน ๒๕๐๓
-สวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน ๒๕๐๓
-สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
-นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
-เบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๔-๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
-สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๓
-ลักเซมเบอร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๓
-เนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
-สเปน ระหว่างวันที่ ๓-๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓
-สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕
-สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๕
-นิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๖ สิงหาคม ๒๕๐๕
-ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน ๒๕๐๕
-ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน ๒๕๐๖
-สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕-๘ มิถุนายน ๒๕๐๖
-สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖
-สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗
-สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
-สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
-อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ เมษายน ๒๕๑๐
-สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
-แคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๐
-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน ๒๕๓๗

เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ แล้ว ก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นประมุขของประเทศต่างๆ ที่เสด็จและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน และบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า





ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที

นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ

Monday, November 19, 2007

พระราชประวัติ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี


เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์


ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธ>ศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง


ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม


ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์


ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี


หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ

- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐


ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน